สรุปประเด็น กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้..สู่การปฏิบัติ ครั้งที่ 8

Law คนสวนดุสิต (ตอบ)”
วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้อง Activity Space อาคาร Student Activity  Space  ชั้น 2


กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้..สู่การปฏิบัติ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้บุคลากรได้พูดคุย เรียนรู้ สร้างความเข้าใจ และทำความรู้จัก ความเป็นสวนดุสิตให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนาบุคลากรตามทิศทางของมหาวิทยาลัย “จิ๋วแต่แจ๋ว” กิจกรรม “Law คนสวนดุสิต (ตอบ)” วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้อง Activity Space อาคาร Student Activity  Space  ชั้น 2  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย บุคลากรสายวิชาการ สายสนับสนุน และสายบริการ

ได้เรียนเชิญ ผศ.สรศักดิ์ มั่นศิลป์  รองคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง  อาจารย์วัลลภ ห่างไธสง อาจารย์ประจำโรงเรียนกฎหมายและการเมือง นายเอกรัฐ  เผ่าพงศ์ประเสริฐ  และนางสาวอทิตยา คงมี นิติกร  กองกฎหมาย มาร่วมเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น กฎหมายครอบครัว การทำนิติกรรม กฎหมายที่เกี่ยวกับการต่อสัญญาจ้าง  การทำผลงานระดับชำนาญการ กฎระเบียบปฏิบัติงาน และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เช่น การผิดระเบียบวินัย เอกสารหลักฐานในการสมัครงาน  เป็นต้น

เรื่องกระบวนการต่อสัญญาของบุคลากรสายวิชาการ  สิ่งที่ต้องปฏิบัติ อันดับแรก คือ เกณฑ์ มคอ. และระเบียบข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง หากมีข้อปฏิบัติอื่นใดที่จำเป็นและไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ผู้สอนควรที่จะดำเนินการจัดทำบันทึกรายงานเพื่อให้มหาวิทยาลัยรับทราบ เพื่อพิจารณาตามเงื่อนไขกระบวนการของมหาวิทยาลัยต่อไป

ประเด็นการทำผลงานระดับชำนาญการ มีความสำคัญสำหรับบุคลากรสายสนับสนุน ควรดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด และจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากร เนื่องจากมหาวิทยาลัยพิจารณาตามเกณฑ์ซึ่งประกอบด้วย 1) ผลงานเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ 2) ผลงานเชิงพัฒนา 3) ผลการทดสอบความรู้ตามที่กำหนด (ทดสอบและสัมภาษณ์) เมื่อบุคลากรสายสนับสนุนสอบผ่านทั้งสามส่วน การที่มีผลงาน   ที่เป็นรูปธรรม จะเป็นประโยชน์และจะช่วยสร้างความมั่นใจในการพิจารณาของมหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.พิทักษ์  จันทร์เจริญ  รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการทำผลงานของบุคลากรสายสนับสนุน  ปัจจุบันการเลื่อนระดับตำแหน่งจากปฏิบัติการไปสู่ชำนาญการ มีจำนวนน้อยมาก   และในอนาคตมหาวิทยาลัยกำลังศึกษาข้อกฎหมายในการพิจารณาแนวทาง และค่าตอบแทนจากการเลื่อนระดับตำแหน่งชำนาญการ  เป็นชำนาญการพิเศษ

ในส่วนของบุคลากรสายบริการ หรือผู้ปฏิบัติงานที่เป็นลูกจ้างมหาวิทยาลัย มีการปฏิบัติงานและมีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย  หากมีกรณีการกระทำผิดระเบียบวินัยใดๆ ทางมหาวิทยาลัยจะพิจารณาตามข้อบังคับและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งตัวบุคลากรเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญและคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคลากรมาโดยตลอด

วิทยากรได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การปฏิบัติงานทั้งบุคลากรสายวิชาการ สายสนับสนุน และสายบริการ ควรให้ความสำคัญกับการศึกษา เรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบปฏิบัติของมหาวิทยาลัย เพื่อประโยชน์ของตัวบุคลากร และเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการกระทำที่ละเมิดหรือผิดต่อกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ขณะเดียวกันสถานการณ์ของมหาวิทยาลัย ทำให้หลายคนรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับการต่อสัญญาจ้าง ข้อเสนอแนะสำหรับบุคลากร คือ ควรติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ พัฒนาความรู้ และศึกษาข้อกฎหมาย ระเบียบ และพัฒนาตนเองและงานอย่างต่อเนื่อง

หากบุคลากรต้องการความช่วยเหลือ  คำปรึกษา หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายระเบียบต่าง ๆ สามารถติดต่อได้ที่ กองกฎหมาย หรือ อาจารย์ของโรงเรียนกฎหมายและการเมืองได้ทุกท่าน

การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจำนวน 47 คน  มีผู้ที่แสดงความคิดเห็นในแบบสอบถาม จำนวน  32 คน สรุปผลสำรวจได้ดังนี้

  1. Law” ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่คนสวนดุสิต อ่านหรือรับรู้ (ตอบหลายคำตอบ)
อันดับ 1 พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 46.88%
อันดับ 2 การต่อสัญญาจ้าง ระเบียบหรือกฎหมายการบริหารงานบุคคล

(รวมทั้งการทำผลงาน การพัฒนาบุคลากร)

37.50%
อันดับ 3 ระเบียบ กฎเกณฑ์ ทิศทางมหาวิทยาลัย 25.00%
อันดับ 4 การบริหารทรัพย์สิน และระเบียบด้านการเงินการบัญชี (กองทุนสำรองฯ กองทุนสะสมฯ เป็นต้น) 12.50%
อันดับ 5 กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) 9.38%
  1. 2. อีก 3 ปีข้างหน้า คนสวนดุสิต คิดว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นอย่างไร
อันดับ 1 มีหน่วยงานเชิงธุรกิจบริการวิชาการ/มีการให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น 33.34%
อันดับ 2 มหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็ง พัฒนาในทุก ๆ ด้าน 27.27%
อันดับ 3 มีนักศึกษาเข้ามาศึกษาจำนวนมาก 21.21%
อันดับ 4 มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีการสอนออนไลน์ เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 12.12%
อื่นๆ มีการทำงานร่วมกันมากขึ้น รถไม่ติด เป็นมหาวิทยาลัยที่ตอบสนองสังคมมากขึ้น 6.06%
  1. 3. แนวทางที่คนสวนดุสิต สามารถช่วยพัฒนามหาวิทยาลัยสวนดุสิต
อันดับ 1 เพิ่มทักษะ พัฒนางานในหน้าที่/ความรู้ของตนเอง 64.52%
อันดับ 2 สร้างความร่วมมือพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนานักศึกษา 22.58%
อันดับ 3 ให้ความรู้และเต็มใจในการให้บริการ/พัฒนาการสื่อสารการบริการ 9.67%
อันดับ 4 สร้างเครือข่ายในการทำงาน 3.23%

จากผลการจัดกิจกรรม พบว่า บุคลากรขาดการศึกษาข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยในหลาย ๆ เรื่อง แต่บุคลากรบางส่วนมีการเรียนรู้ศึกษาข้อกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ และส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเองบางเรื่องตามความสนใจและความจำเป็น ทั้งนี้อาจจะด้วยข้อจำกัดด้านภาษาเนื้อหา

ข้อจำกัดด้านการสื่อสาร ช่องทาง ภาษาที่เข้าใจยาก ความต่อเนื่อง และด้วยพฤติกรรมของวัยหรือส่วนบุคคล รวมไปถึงการไม่ชอบอ่านอะไรที่ไม่น่าสนใจ หากส่วนงานที่เกี่ยวข้องจะสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบที่สำคัญ ทำข้อมูลเนื้อหาที่สำคัญ ๆ ให้น่าสนใจ และเข้าใจง่าย สื่อสารอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าการสื่อสารผ่านระบบ e-office ให้อ่านเอกสารกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นแนวทางส่งเสริมความรู้สร้างความเข้าใจให้กับบุคลากรทุกระดับได้


                                                                                      จัดทำโดยสวนดุสิตโพล