สรุปประเด็นจาก กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การปฏิบัติ ครั้งที่ 2
Service Mind” ใครว่าไม่สำคัญ วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00-11.30 น.


กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรมีการเรียนรู้ พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ และทำความรู้จักสวนดุสิต ความเป็นสวนดุสิตให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนาบุคลากรตามทิศทางของมหาวิทยาลัย “จิ๋วแต่แจ๋ว”

จากการบรรยายเรื่องการบริการที่ดีของรองอธิการฯ ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร และรองอธิการบดีฯ ดร.วรานี เวสสุนทรเทพ สรุปดังนี้ การบริการที่ดีต้องให้ความสำคัญกับความต้องการและการช่วยเหลือตามที่ผู้รับบริการต้องการ Service Mind คือการบริการที่ทำด้วยใจ เริ่มจากตัวผู้ให้บริการ ที่มีใบหน้ายิ้มแย้มมีรอยยิ้มตลอดเวลา ใส่ใจกระตือรือร้น บริการด้วยความสะดวกรวดเร็ว และสร้างความประทับใจหรือมูลค่าการบริการให้กับลูกค้า การบริการที่ดีสร้างความประทับใจและทำให้ผู้รับบริการมีความพึงพอใจซึ่งส่งผลต่อภาพรวมขององค์กร

ผู้อำนวยการกองคลัง กล่าวว่า Service Mind เป็นสิ่งที่บุคลากรสวนดุสิตมีอยู่แล้ว Service Mind เริ่มจากภาษากาย คือ รอยยิ้ม และสิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจว่า ผู้รับบริการมีความคาดหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือหรือบริการที่ดี การบริการที่ดีจึงมีความสำคัญกับคนทุกคนทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

บุคลากรที่เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่มีงานที่ให้บริการกับผู้รับบริการที่หลากหลาย ทั้งบุคลากร นักศึกษา และผู้ใช้บริการภายนอก มีความตั้งใจในการให้บริการกับผู้รับบริการทุกกลุ่มด้วยความเป็นมิตร เต็มใจและเป็นไปตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง การทำงานบางท่านได้รับคำชม หรือบางท่านเคยถูกว่ากล่าว เพราะอาจจะเกิดจากข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น น้ำเสียง ใบหน้า หรือบุคลิกภาพส่วนบุคคล แต่ก็มีความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น การเข้าร่วมกิจกรรมทำให้หลายท่านได้รู้จักบุคลากรและภารกิจต่างหน่วยงาน โดยในครั้งนี้ มีบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการขอผลงานของสายสนับสนุน เชิญชวนให้บุคลากรสายสนับสนุนส่งผลงานระดับชำนาญการเพื่อความก้าวหน้าในสายงานของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการพัฒนาตนเอง

บุคลากรที่เข้าร่วมได้ทำแบบสอบถามอ่านเร็วตอบเร็ว จำนวน 37 ท่าน สรุปผลความคิดเห็น ดังนี้

  1. “ใคร” สำคัญกับงาน
อันดับแรก คนทุกคน 27.27%
ผู้ใช้บริการภายนอก 27.27%
อันดับสอง บุคลากรทุกคนและทุกหน่วยงานของสวนดุสิต 25.45%
อันดับสาม นักศึกษา 16.36%
อื่น ๆ ผู้ปกครอง   3.64%
  1. อะไรใน “บ้าน” ที่ทำให้ท่านมีความสุข อารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส
อันดับแรก คนในครอบครัว 50.00%
อันดับสอง กิจกรรมยามว่าง (อ่านหนังสือ/ฟังเพลง/ดูทีวี/คุยกับต้นไม้) 26.48%
อันดับสาม ทำใจให้มีความสุข 11.76%
อันดับสี่ สัตว์เลี้ยง 11.76%
  1. อะไรใน “หน่วยงาน” ที่ทำให้ท่านมีความสุข อารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส
อันดับแรก เพื่อนร่วมงาน 46.17%
อันดับสอง งานในหน้าที่ 15.38%
ความจริงใจและรอยยิ้ม (ของตนเองและคนรอบข้าง) 15.38%
อันดับสี่ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน   7.69%
อื่นๆ หัวหน้างาน,ผู้มาใช้บริการ,การทำให้ทุกวันมีความสุข ฯลฯ 15.38%
  1. สิ่งที่บุคลากรสวนดุสิตอยากเปลี่ยนแปลง “ตนเอง”
อันดับแรก ความขยัน (ทำให้ตนเองรู้สึกขยัน) 25.00%
อันดับสอง การยิ้มให้เก่ง/หน้าตาสวยงาม 21.42%
อันดับสาม การกล้าแสดงออก

ความเก่งรอบด้าน

การจัดการภาวะอารมณ์-ความอดทนของตนเอง

14.29%

14.29%

14.29%

อื่น ๆ ทัศนคติคิดบวก/ความคิดสร้างสรรค์ 10.71%

จากข้อมูลและการสังเกตจากการมีส่วนร่วม บุคลากรทุกคนเห็นว่า การยิ้มแย้มเป็นสิ่งที่ดีก่อให้เกิดประโยชน์กับงานและคนรอบข้าง และทุกคนอยากยิ้มแย้มให้กับเพื่อนและผู้รับบริการ เพราะทุกคนให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ให้บริการที่ดีและการบริการที่ดี เพื่อทำให้ลูกค้าหรือผู้รับบริการมีความพึงพอใจและได้รับการบริการที่ตรงกับความต้องการ นอกจากนั้นบุคลากรทุกคนนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานของตนเอง พร้อมทั้งเชิญชวนให้ใช้บริการด้วยความเป็นมิตรและด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม

ทุกรอยยิ้ม ใช้แทนความรู้สึกที่มีความสุขและความสนุกสนาน รอยยิ้มของคนแต่ละคนในแต่ละวันเกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่ต่างกัน ยิ้มเพื่อทักทายผู้อื่น ยิ้มเพื่อที่แสดงอารมณ์ที่รู้สึก รอยยิ้มไม่ได้มอบเพียงความรู้สึกที่ดีให้กับตัวผู้ยิ้มและคนรอบข้าง แต่รอยยิ้มยังช่วยสร้างสุขภาพกาย สุขภาพจิต เสริมสร้างเสน่ห์และความน่าดึงดูด รวมถึงชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อ “ยิ้ม” จะเกิดสาร เอ็นโดรฟิน (Endorphin) หรือ สารแห่งความสุข และเป็นยาบรรเทาอาการปวดได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีสารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยต้านความเศร้าและช่วยปรับให้อารมณ์ดีขึ้น นอกจากนี้ การยิ้มยังช่วยลดความเครียด ทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น และชีวิตที่ยืนยาวขึ้นด้วย

หลายคนอาจพบเจอกับความเครียดหรือเรื่องไม่สบายใจทำให้ยิ้มได้ไม่กว้างเท่าที่ควร แต่การฝืนยิ้มก็สามารถช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามการยิ้มอย่างใจจริงน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า เราควรที่จะฝึกยิ้มด้วยกล้ามเนื้อทุกส่วนบนใบหน้าโดยเฉพาะดวงตา[1] เพราะ “ดวงตา” และ “รอยยิ้ม” เป็นหน้าต่างของหัวใจ

 


                                                                                                โดย สวนดุสิตโพล

[1] ภัทรนันท์ บุญหาว. “ประโยชน์ของรอยยิ้ม”  https://www.ttmed.psu.ac.th/th/blog/268. (สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565).